The Eagle Man of Kyrgyzstan 
มนุษย์นกอินทรี แห่งแดนภูผา เคอร์กีซสถาน

เรื่องราวสายใยความผูกพัน ระหว่างคนกับนกอินทรีนั้นลึกซึ้งยิ่งนัก

 ประสบการณ์อย่างหนึ่ง ที่ควรค่าแก่การได้ดูชม เมื่อได้เดินทางไปเยือนดินแดนเคอร์กีซสถาน คือ การแสดงการล่าเหยื่อของนกอินทรีทอง (The Golden Eagle Hunter) 

ครั้งนี้เรามีโอกาสเดินทางไปยังเมืองทางตอนใต้ของทะเลสาบอิซซี่ คูล (Issyk-Kul) ชื่อเมือง Bokonobaevo ได้ไปเรียนรู้เรื่องราวของมนุษย์นกอินทรีหรือ The Eagle Man ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ใน Master Class of The Eagle Man 

เราได้พบกับ Arstan ชายกลางคน ชาวเคอร์กีซสถาน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มมนุษย์นกอินทรี เขาเล่าว่าได้เริ่มเลี้ยงและฝึกนกอินทรี มาตั้งแต่เยาว์วัย ตอนอายุประมาณ 15 ปี และตลอดระยะเวลากว่า 23 ปี จนถึงปัจจุบัน เขายังผูกพัน ใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งนี้ และมีความภาคภูมิใจเสมอมา กับการเป็น The Eagle Man เพราะมันเป็นการสืบทอดสานต่อ จากรุ่น สู่รุ่น และถือเป็นเกียรติอันสูงสุดอย่างหนึ่งในชีวิต ที่ผู้ชายคนหนึ่ง พึงจะได้รับในตลอดช่วงชีวิตของเขา

มีหลายสิ่งที่เราได้เรียนรู้ ผ่านคำถามต่างๆ ที่ผุดขึ้นมามากมาย

ถาม : ทำไมถึงต้องมีการจับนกอินทรีมาใช้ล่าเหยื่อ ?
ตอบ : ตั้งแต่อดีตแล้ว ชาวเคอร์กีซ นิยมฝึกนกอินทรี เพื่อที่จะใช้ล่าสัตว์ป่าต่างๆ (อาทิ เช่น กระต่ายป่า หมาป่า สุนัขจิ้งจอก และลูกกวาง เป็นต้น) แทนการใช้ปืนหรืออาวุธมีคมอื่นๆ เนื่องจากพื้นที่โดยมากเป็นภูเขาและทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ วิธีนี้จึงเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศมากกว่าด้วย

ถาม : มีวิธีจับนกอินทรีมาเลี้ยงได้อย่างไร ? 
ตอบ : นกอินทรีย์ที่เอามาฝึกในการล่าเหยื่อ มีการจับ 2 แบบ คือจับตอนที่ยังเป็นทารก (Baby Eagle) โดยจะต้องปีนไปหยิบออกมาจากรังบนต้นไม้สูง ซึ่งโดยวิธีนี้ปกติ จะเลือกจับเอามาแค่หนึ่งตัว เพื่อไม่ให้พ่อแม่นก ต้องใจสลาย เมื่อกลับมาถึงรังแล้วไม่พบลูกตัวเอง  ส่วนอีกแบบนึงจะเป็นการดักจับนก ที่โตแล้ว อายุประมาณ 1-2 ปี แต่นกพวกนี้จะฝึกสอนยากกว่าแบบแรก

ถาม : แล้วเมื่อจับมา นกอินทรีจะอยู่กับเจ้าของตลอดชีวิตหรือไม่ ? 
ตอบ : โดยปกตินกอินทรีที่เราเอามาเลี้ยงตั้งแต่ตอนยังเป็นทารก มักจะปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ ตอนอายุประมาณ 6-7 ปี ถ้าปล่อยช้ามาก อินทรีเหล่านี้ จะไม่สามารถมีชีวิตอยู่รอดในธรรมชาติได้ เค้าจะสูญเสียสัญชาตญาณของการเป็นสัตว์ป่าไป และอีกเหตุผลหนึ่ง คือ เป็นช่วงเวลาวัยเจริญพันธ์ุ ที่เค้าจะสืบพันธุ์ต่อ เป็นการส่งเสริมให้เกิดการขยายเผ่าพันธุ์ตามธรรมชาติ 
ส่วนนกอินทรีที่จับมาเลี้ยงเมื่อตอนโตแล้ว มักจะเลี้ยงไว้ประมาณ 10 ปี บ้างก็เลี้ยงไว้ยาวนานกว่านั้น แต่หลังจากนั้นก็จะปล่อยคืนกลับสู่ธรรมชาติเช่นกัน

ประเด็นนี้ทำให้เราตระหนักได้ว่า
บนความผูกพันระหว่าง “มนุษย์” กับ “นกอินทรี” นั้น เต็มไปด้วยความเมตตา และความเข้าใจในชีวิตของกันและกัน ไม่ได้ตั้งอยู่บนความเห็นแก่ตัว หรือ ความอยากได้แต่เพียงฝ่ายเดียว
เป็นสิ่งที่สวยงามอย่างหนึ่ง ที่ได้เรียนรู้ในคลาสเรียนครั้งนี้ 

ถาม : อายุขัยโดยเฉลี่ยของนกอินทรี อยู่ที่เท่าไหร่ ?
ตอบ : ประมาณ 40 ถึง 50 ปี ขึ้นอยู่กับความแข็งแรง โดยส่วนใหญ่ตัวเมียจะแข็งแรงกว่า คนจึงนิยมใช้ตัวเมียในการนำมาฝึก เพราะตัวเมียจะมีร่างกายที่ใหญ่กว่าและแข็งแรงกว่ามาก
โดยส่วนใหญ่น้ำหนักของนกอินทรีตัวเมีย ถ้าอายุประมาณ 3 ปี ซึ่งเป็นขนาดโตเต็มวัย ร่างกายจะทรงพลังและแข็งแรงมาก น้ำหนักจะอยู่ประมาณ 7-9 กิโลกรัม หรืออาจหนักมากกว่านั้นอีก ถ้ามีอายุมากขึ้น สำหรับนกอินทรีที่มีอายุ 15 ถึง 20 ปีก็ถือว่าค่อนข้างจะแก่แล้ว ไม่สามารถนำมาฝึกใดๆได้ การดูอายุจะสังเกตจากสีที่หาง หากหางมีสีอ่อน อายุยังน้อย แต่ถ้ามีสีเข้ม คืออายุมากขึ้นตามลำดับ

ถาม : ปกติแล้วมนุษย์นกอินทรี จะเลี้ยงนกอินทรีครั้งละกี่ตัว แล้วจะมีการทะเลาะกันหรือไม่ หากต้องอยู่ร่วมกันหลายตัว ?
ตอบ : มักจะเลี้ยงครั้งละ 1-2 ตัว เพราะการเลี้ยงดูนกอินทรีนั้น มีความละเอียดอ่อนสูง ต้องให้ความสนใจ ใส่ใจ ดูแลเขาตลอดเวลา เปรียบเสมือนสมาชิกคนสำคัญคนหนึ่งของครอบครัว บางครั้งการดูแลละเอียดอ่อนยิ่งกว่าดูแลลูกของตน (มนุษย์)  เช่น การให้อาหารจะต้องให้อาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ป่าเท่านั้น จะใช้เนื้อสัตว์ที่ขายตามตลาดไม่ได้ เพราะกระเพาะอาหารของนกอินทรีนั้น บอบบางและละเอียดอ่อนมาก เนื้อสัตว์ที่เลี้ยงในอุตสาหกรรมฟาร์มปิด บางทีได้รับอาหารที่มีการปนเปื้อนของสารเคมีต่างๆ ซึ่งจะมีผลต่อนกอินทรีทันที เนื้อสัตว์ป่าที่นิยมนำมาใช้เป็นอาหารให้นกอินทรีกิน เช่น ไก่ป่า กระต่ายป่า หรือ นกพิราบ เป็นต้น ส่วนการให้น้ำไม่จำเป็นต้องทุกวัน แค่บางวันก็เพียงพอแล้ว 

ส่วนการเลี้ยงแล้วจะทะเลาะกันหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าเลี้ยงแบบให้โตมาด้วยกันหรือเปล่า ถ้าไม่ได้โตมาด้วยกันก็มีโอกาสไม่ใช่แค่จะทะเลาะกัน แต่อาจจะถึงฆ่ากันได้

ถาม : ความผูกพันระหว่างมนุษย์กับนกอินทรี เกิดขึ้นจากอะไร ?
ตอบ : การฝึกนกอินทรีให้เชื่อง ต้องอาศัยการดูแลอย่างใกล้ชิดและความเข้าใจในพฤติกรรมของนก ต้องรู้ว่าเวลาไหนต้องให้อาหารให้น้ำ และให้ในปริมาณที่เหมาะสม ต้องสื่อสารกับเขาอย่างไร เพราะเสียงเรียกที่คุ้นเคยกันเท่านั้น จึงจะเรียกเขาบินกลับมาหาเราได้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นทุกวันซ้ำๆ ย่อมเกิดความผูกพัน เคยมีเรื่องราวบ่อยครั้ง ที่เมื่อเจ้าของที่เป็นมนุษย์นกอินทรีเสียชีวิตลง นกอินทรีของเขาก็ตัดสินใจบินขึ้นสูงและปลิดชีพตัวเอง ด้วยการดิ่งพสุธาลงมาเช่นกัน 

นี่เป็นอีกข้อคิดหนึ่งที่เมื่อได้ฟังแล้ว รู้สึกได้ถึงความรักความผูกพันที่เกิดขึ้นอย่างเหนียวแน่น เป็นความรักที่บริสุทธิ์  ที่ปราศจากเงื่อนไขใดๆ ระหว่างมนุษย์กับนกอินทรี

นั่งคุยกันสักพัก Arstan ก็ได้หยิบเอาที่ปิดตานก ขึ้นมาให้ดู 2 อัน ซึ่งเขาบอกว่า มีชื่อเรียกว่า Tomogo เป็นงานแฮนด์เมด เย็บมือ ทำจากหนังแท้ มีความเท่ห์และสวยงามเป็นอย่างมาก เขาบอกว่าส่วนใหญ่แล้ว เจ้าของจะทำที่ปิดตานกให้กับนกอินทรีของตัวเอง เพราะขนาดต้องวัดพอดีกับใบหน้า และอย่างที่รู้กันว่านกอินทรีมีสายตาที่ยาวไกลมาก สามารถมองเห็นได้ไกลกว่า 3 กิโลเมตร  ข้อนี้เราได้พิสูจน์เห็นด้วยตาตัวเองในตอนที่เราได้ขับรถตามออกไปที่ทุ่งหญ้าเนินเขาเปิดกว้าง ที่อยู่ห่างออกไปไม่ไกลจากบ้านของเขา ในขณะที่มนุษย์นกอินทรีกำลังยืนคุยอยู่กับเรา เจ้านกอินทรีก็กระสับกระส่าย ส่งเสียงร้องดัง ต้องการที่จะบินออกไป เพราะสายตาเค้าไปเห็นเหยื่อที่เคลื่อนไหว ถึงแม้จะอยู่ห่างไกลออกไปถึง 3 กิโลเมตรก็ตาม ทำให้เขาต้องรีบใช้ที่ปิดตานก เพื่อที่จะปิดกั้นการมองเห็นชั่วคราวแต่โดยเร็ว

จากนั้นมนุษย์นกอินทรีก็สาธิตให้เราดูว่าการเรียกนกอินทรีย์นั้น จะต้องใช้เสียงเรียกอย่างไร และการล่าเหยื่อจะมีวิธีการอย่างไร ไม่น่าเชื่อว่าเพียงแค่ไม่กี่วินาทีเท่านั้น นกอินทรีสามารถบินร่อนมาแต่ไกล เพื่อไปโฉบตระครุบเหยื่ออย่างรวดเร็ว แม่นยำ และนำกลับมาส่งยังเจ้าของได้โดยง่ายดาย และทุกครั้งที่ทำงานสำเร็จ จะต้องมีรางวัลให้เสมอรางวัลอันโอชะคืออาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ป่าต่างๆนั่นเอง

ครั้งนี้เราโชคดีมาก ที่ได้มีโอกาสเห็นตั้งแต่การเลี้ยงดู การเป็นอยู่ และการสาธิตการล่าเหยื่อของนกอินทรี ที่ทั้งหมดทั้งมวลล้วนสะท้อนให้เห็นความผูกพันอย่างแนบแน่นระหว่างสองสิ่ง นั่นคือ มนุษย์นกอินทรี (The Eagle Man) และ นกอินทรีทอง (The Eagle Hunter)  แห่งดินแดนเคอร์กีซสถาน

Top